กรานกฐิน

กรานกฐิน

กฐินทาน


             เนื่องด้วยในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินในปีนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  ในวันศุกร์ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๖.๐๐ น.

                วันศุกร์ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๔
                เวลา ๑๖.๐๐ น.  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังวัดราชาธิวาสวิหาร เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ถวายผ้าพระกฐิน เป็นวัดที่ ๑ แล้ว  เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระมณฑป ทรงจุดธูปเทียนถวายราชสักการะพระศรีรัตนมหาธาตุ แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ถวายผ้าพระกฐิน เป็นวัดที่ ๒ เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับ

แต่งกายเครื่องแบบเต็มยศ  สายสะพายมหาจักรี  ไว้ทุกข์
..................................................................................

ความเป็นมาของกฐินทาน
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหารที่ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ในเมืองสาวัตถี เมื่อใกล้เข้าพรรษาภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ ๓๐ รูป (เมืองปาเฐยยะหรือเมืองปาฐา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแคว้นโกศล) ประสงค์จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค พากันเดินทางมาถึงเมืองสาเกต ซึ่งอยู่ระหว่างทางก่อนถึงเมืองสาวัตถีเพียง ๖ โยชน์เท่านั้น ก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน จึงพากันจำพรรษาที่เมืองสาเกตนั้น เมื่อออกพรรษาแล้วฤดูฝนยังไม่หมด มีฝนตกอยู่ทั่วไป ก็พากันเดิน
เหยียบน้ำย่ำโคลนฝ่าสายฝนไปยังเมืองสาวัตถี ทั้งผ้านุ่ง ผ้าห่ม และบริขาร เปียกน้ำเปื้ยนโคลนเลอะเทอะ ก็อุตส่าห์พากันเดินทางไปจนถึงเมืองสาวัตถี เมื่อไปถึงพระเชตะวันมหาวิหารแล้ว ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคทรงมีปฏิสันถารกับภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้น ทรงไต่ถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทางมาว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย สบายดีหรือ พอเป็นอยู่ได้หรือ ยังพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษาผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบากหรือ”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “พวกข้าพระองค์สบายดี พอเป็นอยู่ได้ มีความพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษาผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมิกถาเพาระเรื่องนี้เป็นเหตุ รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาแล้ว กรานกฐินได้ เมื่อกรานกฐินแล้ว จะได้รับอานิสงค์ ๕ ประการคือ
๑.สัญจรไปโดยไม่ต้องบอกลา
๒.ไปค้างแรมที่อื่นโดยไม่ต้องถือจีวรไปครบไตร
๓.ฉันคณโภชนะหรือปรัมประโภชนะได้
๔.มีอดิเรกจีวรได้ตามต้องการ
๕.มีส่วนได้จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้น”

ทรงอนุญาตกฐินตามความจำเป็น
                พระผู้มีพระภาคทรงเห็นความจำเป็นและความลำบากของภิกษุทั้งหลาย ในการแสวงหาผ้ามาทำจีวรเพื่อใช้สอย ความจำเป็นในการสัญจรและการฉันภัตตาหาร จึงอนุญาตให้ภิกษุรับผ้ากฐิน สัญจรไปโดยไม่ต้องบอกลาและฉันภัตตาหารร่วมกันได้
ความหมายของคำว่า “กฐิน”
                คำว่า “กฐิน” หรือ “กถิน” ซึ่งเขียนได้ทั้ง ฐ และ ถ มีความหมาย ๓ อย่าง
๑.กฐิน มีความหมายว่า มั่นคง เพราะสามารถทำอานิสงส์ ๕ ประการไว้ในเขตของตน เป็นเวลาถึง ๔ เดือน
๒.กฐิน มีความหมายว่า ความสรรเสริญ เพราะบัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญว่าดี ภิกษุผู้มีความจำเป็น  มีความรู้ ความสามารถ ควรทำ
๓.กฐิน มีความหมายว่า ไม้สะดึง เพราะเป็นไม้ที่ภิกษุทำขึ้นเพื่อขึงผ้าเวลากะ ตัด เนา และเย็บผ้าให้เป็นจีวร
ดังนั้น ผู้นำผ้าจีวรเพื่อกฐินไปถวายภิกษุผู้จำพรรษาถ้วนไตรมาสจึงชื่อว่า ได้ทำสิ่งที่มั่นคง ได้ทำสิ่งที่บัณฑิตสรรเสริญ

ช่วงเวลาทอดกฐิน
              ระยะเวลาที่ทายกทายิกาสามารถนำผ้าจีวรไปถวายเพื่อทอดกฐินได้นั้น มีเพียง ๑ เดือน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ก่อนหรือหลังจากนี้ จะถวายผ้าเพื่อกฐินไม่ได้

ผ้าสำหรับกฐิน
              ผ้าที่จะนำไปถวายทอดกฐินได้ คือ ผ้าใหม่ ผ้ากลางเก่ากลางใหม่ ผ้าเก่าที่ซักสะอาดแล้ว ผ้าบังสุกุล หรือผ้าที่นำมาจากร้านตลาด เป็นต้น  ผ้าที่นำไปถวายทอดไม่ได้ คือ ผ้ายืมเขามา ผ้าที่ได้มาโดยมิชอบ ผ้าของภิกษุที่นิสสัคคีย์ ผ้าไม่มีขัณฑ์ หรือมีขัณฑ์ไม่ถึง ๕ เป็นต้น

ผู้ถวายผ้ากฐิน
               ผู้ที่สามารถถวายผ้าเพื่อกฐิน เมื่ออรุณขึ้นแล้ว ควรน้อมผ้าที่มีประมาณพอที่จะทำเป็นสังฆาฏิ จีวร หรือสบง ผืนใดผืนหนึ่ง เข้าไปถวายแด่พระสงฆ์ โดยกล่าวคำถวาย ดังนี้

คำถวายผ้ากฐิน
               มะยัง ภันเต, กัมมัญจะ, กัมมะผลัญจะ, สัททะหิตฺวา, สังสาระวัฏฏะทุกขะโต, โมจะนัตถายะ, นิพพานัสสะ, สัจฉิกะระณัตถายะ, อิมัง กะฐินะจีวะระทุสสัง, พุทธัปปะมุขัสสะ, ภิกขุสังฆัสสะ เทมะ. อิมินา, จีวะระทุสเสนะ, กะฐินัง อัตถะระตุ.
              ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพระเจ้าทั้งหลาย, เชื่อกรรมและผลของกรรม, ขอน้อมถวาย, ผ้าไตรจีวรเพื่อกฐินนี้, แด่พระภิกษุสงฆ์, ผู้มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน, เพื่อความหลุดพ้น,จากทุกข์และวัฏฏสงสาร, และทำให้แจ้งพระนิพพาน, ขอพระภิกษุสงฆ์, จงกรานกฐิน ด้วยผ้าจีวรนี้เทอญ.