สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๕



สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๕


ขออวยพร  วอนอ้าง  คุณพระพุทธ
ได้ปกป้อง  ผองมนุษย์  โศกกษัย
ขออ้าง  คุณพระธรรม  อันอำไพ
ช่วยคุ้มสัตว์  ทั่วไป  ไร้โรคา
ขออวยพร  วอนอ้าง  คุณพระสงฆ์
ช่วยธำรง  สุขสันต์  กันทั่วหน้า
ข้าร่ำร้อง  ลำนำ  พร่ำภาวนา
ทั่วโลกา  สิ้นทุกข์  พาสุขเอยฯ

"พุทธทาสภิกขุ"

สวัสดีปีใหม่ ทุกๆ ท่าน 
      รายการเสียงธรรมจากวัดมหาธาตุ ขออำนวยพรให้ทุกๆ ท่าน มีแต่ความสุข ความเจริญ ในชีวิตและหน้าที่การงาน ตลอดปี ๒๕๕๕ ด้วยกันทุกท่าน เทอญ




สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๕
เสียงธรรมจากวัดมหาธาตุ


Read More

สวดมนต์ข้ามปี


เจริญพระพุทธมนต์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

            วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ขอเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมเจริญพระพุทธมนต์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ กับทางวัดมหาธาตุ

             เนื่องด้วยในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ เป็นวันสิ้นสุดของปี  วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ได้จัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีส่งท้ายปีเก่า - ตอนรับปีใหม่ ในการนี้ทางวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ขอเชิญพุทธศาสนิกชนทุกท่าน ร่วมกิจกรรมกับทางวัดมหาธาตุ ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ เวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกาเป็นต้นไป ณ พระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์







ขอบคุณ : วิดีโอจาก ThaiHealth channel  (สสส.)



Read More

พระโอวาทวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๕๕


พระโอวาทวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๕๕
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก


ขออำนวยพรสาธุชนทั้งหลาย

ตามคตินิยมของคนไทยโดยทั่วไป เมื่อปีเก่าผ่านไปและปีใหม่กำลังจะมาถึง ต่างก็ปิติยินดี เพราะเป็นช่วงที่มีความหมายว่า รอบปีหนึ่งของชีวิตได้ผ่านพ้นไปโดยสวัสดีมีสุข เป็นเหตุให้ชีวิตผ่านพ้นมาถึงปีใหม่อันจะเป็นรอบใหม่ของชีวิต ที่ทุกคนต่างมุ่งหวังและปรารถนาที่จะให้ดำเนินไปด้วยความสวัสดีมีสุขยิ่งๆ ขึ้นไป
สำหรับประชาชนชาวไทย ในรอบปีที่ผ่านมาคือ พุทธศักราช ๒๕๕๔ นับเป็นมหามงคลสำหรับชาวไทยทั้งมวล เพราะเป็นมหามงคลวโรกาสพระราชพิธีพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่ปลื้มปิติของพสกนิกรถ้วนหน้า และต่างพร้อมใจเฉลิมฉลองถวายพระพรชัยมงคล ให้เจริญพระราชสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลพระชนมสุขตลอดจิรัฐติกาล
และในรอบปีใหม่ที่จะมาถึง คือพุทธศักราช ๒๕๕๕ ก็นับได้ว่า เป็นปีมหามงคลสำหรับชาวไทยอีกวาระหนึ่ง เพราะเป็นปีที่พระพุทธศาสนาประดิษฐานอำนวยแก่ชาวโลกเป็นเวลายาวนานต่อเนื่องมาครบ ๒๖ ศตวรรษ ๒๖๐๐ ปี พุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงจัดให้มีการเฉลิมฉลอง อันเป็นการรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมพระธรรมและพระสงฆ์ เพื่อให้สถิตดำรงอยู่คู่โลกตลอดกาลนาน
การที่ชีวิตและวันเดือนปีจะดำเนินไปโดยสวัสดีได้นั้น ควรที่ทุกคนจะได้เรียนรู้และน้อมนำเอาพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้มาประพฤติปฏิบัติเป็นประจำวัน เพราะพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้นั้น คือความจริงของชีวิต ที่ทุกคนควรรู้และควรปฏิบัติซึ่งเมื่อน้อมนำมาปฏิบัติจริง ก็ย่อมให้ผลดีแก่ชีวิตตามควรแก่การปฏิบัติ
เนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่พุทธศักราช ๒๕๕๕ ขอพระราชทานถวายพระพรชัยมงคล ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและพระราชกุศลบารมี อำนวยให้สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ทั้งสองพระองค์ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เจริญพระราชสิริสวัสดิพิพัฒนสุขทุกประการ
ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและบุญกุศล อำนวยพรให้ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า เจริญอายุ วรรณ สุข พล และประสบสันติสุขทั่วกัน

ขออำนวยพร

Read More

เทศกาลลอยกระทง

เทศกาลลอยกระทง



เชิญร่วมลองกระทงสำหรับคนไอที
เทศกาลลอยกระทง
               ความหมายและความสำคัญ
               วันลอยกระทงเป็นประเพณีและพิธีกรรมที่นับเนื่องกับพระพุทธศาสนา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ การลอยกระทงทำขึ้นเพื่อบูชารอยพระบาทที่ประดิษฐานอยู่ ณ ชายหาดริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา ใน ชมพูทวีป

ตามหลักฐานที่ปรากฏในปุณโณวาทสูตรท่านเล่าว่า คราวหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จพุทธดำเนินไปแสดงธรรมโปรดพญานาคชื่อ นัมมทา ณ นาคพิภพ ครั้นแสดงธรรมจนพญานาคเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัยอย่างแน่นแฟ้นแล้วก็เสด็จกลับ ก่อนเสด็จกลับนั้น พญานาคกราบทูลขอของที่ระลึกสักอย่างหนึ่งจากพระพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ให้เป็นอนุสรณ์ที่ชายหาดริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา คนไทยคงได้คตินี้จึงคิดประเพณีลอยกระทงขึ้นเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทนี้ ตามหลักฐานจากหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงว่า วันลอยกระทงหรือประเพณีลอยกระทงนี้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) แล้ว



ในส่วนที่วันลอยกระทงเริ่มมีการประกวดนางนพมาศขึ้นมาในยุคหลังนั้น สืบเนื่องมาจากมีเรื่องเล่าไว้ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ผู้เป็นพระสนมเอกของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ว่า คราวหนึ่งพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงโปรดฯ ให้ข้าราชบริพารจัดแต่งกระทงสำหรับลอยหน้าพระที่นั่งในวันเพ็ญ เดือน ๑๒ เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทตามที่กล่าวแล้ว ในการนี้ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งขณะนั้นมีชื่อเดิมว่า นางเรวดีนพมาศก็ได้ร่วมประดิษฐ์กระทงด้วย กระทงของนางเรวดีนพมาศนั้นมีรูปลักษณ์แปลกออกไปจากกระทงของคนอื่น คือนางประดับกระทงด้วยดอกบัวชนิดหนึ่งซึ่งปีหนึ่งจะบานเพียงหนเดียว คือบานในวันเพ็ญเดือน ๑๒ นี้เท่านั้น ดอกบัวชนิดนี้ชื่อดอก กมุท หรือ โกมุท กุมุท คือดอกบัวขาว กระทงของนางเรวดีนพมาศที่แต่งเป็นดอกกมุทนี้ประดับด้วยประทีปอย่างงดงาม เป็นที่สดุดตาของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ เป็นอันมาก ท้าวเธอทอดพระเนตรแล้วทรงพอพระทัยจึงตรัสสืบว่า ต่อไปเบื้องหน้าขอให้ทุกคนเอาอย่างนางเรวดีนพมาศนี้ จงแต่งกระทงประทีปลอยในวันเพ็ญเดือน ๑๒ ให้เป็นรูปดอกกมุทสืบไป
จุดมุ่งหมายในวันลอยกระทง
๑. บูชารอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนชายหาดริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา ณ ชมพูทวีป ความจริงรอยพระพุทธบาทนี้ไม่ได้ประดิษฐานอยู่ที่นี้ที่เดียว แต่ผู้รู้กล่าวว่ายังมีประดิษฐานอยู่ที่อื่นอีก ๔ แห่ง คือ ภูเขาสัจจพันธคีรี ยอดเขาสุมนกูฏ (ลังกา) สุวรรณบรรพ (จังหวัดสระบุรี ประเทศไทย) และเมืองโยนก รวมทั้งหมดเป็น ๕ รอย
การลอยกระทงมีคติธรรมที่ควรยึดถือ คือ แทนที่จะลอยแต่เพียงกระทงอย่างเดียว ชาวพุทธก็ถือเป็นโอกาศในการ ลอยบาป คือ ละความเห็นผิด เลิกพฤติกรรมที่ไม่ดีไม่งามของตน รวมทั้งลอยความอาฆาตพยาบาทที่ตนมีต่อคนอื่น เป็นต้น ทิ้งออกจากใจ ปล่อยให้ลอยไปกับสายน้ำเสียด้วย หากทำได้ดังนี้การลอยกระทงก็มีความหมายในทางที่หน้าสรรเสริญและควรกระทำอย่างยิ่ง ทั้งนี้กล่าวตามแนวแห่งพระพุทธพจน์ที่ว่า พาหิตปาโป หิ พฺราหฺมโณ : ผู้ลอยบาปเสียได้ นับว่าเป็นผู้ประเสริฐแท้
๒. การบูชารอยพระพุทธบาทที่แท้นั้นไม่ได้หมายถึงปีหนึ่งมีเพียงหนึ่งครั้ง คือ ในวันลอยกระทงเท่านั้น แต่เราสามารถบูชารอยพระพุทธบาทได้ตลอดเวลา ด้วยการน้อมนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาปฏิบัติในชีวิตจริง การบูชารอยพระพุทธบาทด้วยการปฏิบัติดีงามตามธรรมนี้แหละ คือ การบูชาที่แท้ที่มีสาระประโยชน์สอดคล้องกับพระพุทธประสงค์สมดังที่พระองค์ตรัสประทานพุทโธวาทไว้ว่า อานนท์ ภิกษู ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาคนใดก็ตามที่ประพฤติธรรมตามสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่า สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ตถาคตด้วยการบูชาอันสูงสุด
               ๓.นอกจากการลอยกระทงจะเป็นการลอยสิ่งที่ไม่ดีงามออกจากตน และลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทแล้ว ในอีกความหมายหนึ่งในการลอยกระทงยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการขอขมาต่อแม่คงคามหานทีอีกด้วย ทำไมต้องขอขมาต่อแม่คงคามหานที คำตอบก็เพราะว่า ในแต่ละปีเราใช้น้ำและทิ้งสิ่งสกปรกลงในแม่น้ำลำคลอง จนทำให้แม่น้ำลำคลองซึ่งเป็นผู้มีพระคุณในฐานะที่เป็นแหล่งกำเนิดข้าวปลาอาหารและน้ำดื่มและน้ำใช้ต้องสกปรกและสูญเสียคุณภาพที่ดีไป เมื่อเราสำนึกได้ถึงความผิดของตนเอง จึงควรทำพิธีขอขมาต่อแม่น้ำลำคลองเสียครั้งหนึ่งในหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม การขอขมาต่อแม่น้ำลำคลองด้วยการลอยกระทงยังเป็นการขอขมาในเชิงสัญลักษณ์ซึ่งไม่ช่วยให้แม่น้ำลำคลองที่สกปรกดีขึ้นได้ การขอขมาต่อแม่น้ำลำคลองที่แท้หมายถึง การช่วยดูแลรักษาแหล่งน้ำทุกแหล่งให้สะอาดปราศจากมลพิษ ถ้าทำได้อย่างนี้การลอยกระทงก็จะมีประโยช์ทั้งในทางศาสนา ในทางวัฒนธรรม และในทางสังคม
---------------------------------------------
Read More

ประมวลภาพน้ำท่วม

ประมวลภาพน้ำท่วม
ประมวลภาพน้ำท่วมบริเวณวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ
เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๔
--------------------------------------



















































































Read More

กรานกฐิน

กรานกฐิน

กฐินทาน


             เนื่องด้วยในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินในปีนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  ในวันศุกร์ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๖.๐๐ น.

                วันศุกร์ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๔
                เวลา ๑๖.๐๐ น.  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังวัดราชาธิวาสวิหาร เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ถวายผ้าพระกฐิน เป็นวัดที่ ๑ แล้ว  เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระมณฑป ทรงจุดธูปเทียนถวายราชสักการะพระศรีรัตนมหาธาตุ แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ถวายผ้าพระกฐิน เป็นวัดที่ ๒ เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับ

แต่งกายเครื่องแบบเต็มยศ  สายสะพายมหาจักรี  ไว้ทุกข์
..................................................................................

ความเป็นมาของกฐินทาน
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหารที่ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ในเมืองสาวัตถี เมื่อใกล้เข้าพรรษาภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ ๓๐ รูป (เมืองปาเฐยยะหรือเมืองปาฐา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแคว้นโกศล) ประสงค์จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค พากันเดินทางมาถึงเมืองสาเกต ซึ่งอยู่ระหว่างทางก่อนถึงเมืองสาวัตถีเพียง ๖ โยชน์เท่านั้น ก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน จึงพากันจำพรรษาที่เมืองสาเกตนั้น เมื่อออกพรรษาแล้วฤดูฝนยังไม่หมด มีฝนตกอยู่ทั่วไป ก็พากันเดิน
เหยียบน้ำย่ำโคลนฝ่าสายฝนไปยังเมืองสาวัตถี ทั้งผ้านุ่ง ผ้าห่ม และบริขาร เปียกน้ำเปื้ยนโคลนเลอะเทอะ ก็อุตส่าห์พากันเดินทางไปจนถึงเมืองสาวัตถี เมื่อไปถึงพระเชตะวันมหาวิหารแล้ว ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคทรงมีปฏิสันถารกับภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้น ทรงไต่ถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทางมาว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย สบายดีหรือ พอเป็นอยู่ได้หรือ ยังพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษาผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบากหรือ”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “พวกข้าพระองค์สบายดี พอเป็นอยู่ได้ มีความพร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษาผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมิกถาเพาระเรื่องนี้เป็นเหตุ รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาแล้ว กรานกฐินได้ เมื่อกรานกฐินแล้ว จะได้รับอานิสงค์ ๕ ประการคือ
๑.สัญจรไปโดยไม่ต้องบอกลา
๒.ไปค้างแรมที่อื่นโดยไม่ต้องถือจีวรไปครบไตร
๓.ฉันคณโภชนะหรือปรัมประโภชนะได้
๔.มีอดิเรกจีวรได้ตามต้องการ
๕.มีส่วนได้จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้น”

ทรงอนุญาตกฐินตามความจำเป็น
                พระผู้มีพระภาคทรงเห็นความจำเป็นและความลำบากของภิกษุทั้งหลาย ในการแสวงหาผ้ามาทำจีวรเพื่อใช้สอย ความจำเป็นในการสัญจรและการฉันภัตตาหาร จึงอนุญาตให้ภิกษุรับผ้ากฐิน สัญจรไปโดยไม่ต้องบอกลาและฉันภัตตาหารร่วมกันได้
ความหมายของคำว่า “กฐิน”
                คำว่า “กฐิน” หรือ “กถิน” ซึ่งเขียนได้ทั้ง ฐ และ ถ มีความหมาย ๓ อย่าง
๑.กฐิน มีความหมายว่า มั่นคง เพราะสามารถทำอานิสงส์ ๕ ประการไว้ในเขตของตน เป็นเวลาถึง ๔ เดือน
๒.กฐิน มีความหมายว่า ความสรรเสริญ เพราะบัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญว่าดี ภิกษุผู้มีความจำเป็น  มีความรู้ ความสามารถ ควรทำ
๓.กฐิน มีความหมายว่า ไม้สะดึง เพราะเป็นไม้ที่ภิกษุทำขึ้นเพื่อขึงผ้าเวลากะ ตัด เนา และเย็บผ้าให้เป็นจีวร
ดังนั้น ผู้นำผ้าจีวรเพื่อกฐินไปถวายภิกษุผู้จำพรรษาถ้วนไตรมาสจึงชื่อว่า ได้ทำสิ่งที่มั่นคง ได้ทำสิ่งที่บัณฑิตสรรเสริญ

ช่วงเวลาทอดกฐิน
              ระยะเวลาที่ทายกทายิกาสามารถนำผ้าจีวรไปถวายเพื่อทอดกฐินได้นั้น มีเพียง ๑ เดือน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ก่อนหรือหลังจากนี้ จะถวายผ้าเพื่อกฐินไม่ได้

ผ้าสำหรับกฐิน
              ผ้าที่จะนำไปถวายทอดกฐินได้ คือ ผ้าใหม่ ผ้ากลางเก่ากลางใหม่ ผ้าเก่าที่ซักสะอาดแล้ว ผ้าบังสุกุล หรือผ้าที่นำมาจากร้านตลาด เป็นต้น  ผ้าที่นำไปถวายทอดไม่ได้ คือ ผ้ายืมเขามา ผ้าที่ได้มาโดยมิชอบ ผ้าของภิกษุที่นิสสัคคีย์ ผ้าไม่มีขัณฑ์ หรือมีขัณฑ์ไม่ถึง ๕ เป็นต้น

ผู้ถวายผ้ากฐิน
               ผู้ที่สามารถถวายผ้าเพื่อกฐิน เมื่ออรุณขึ้นแล้ว ควรน้อมผ้าที่มีประมาณพอที่จะทำเป็นสังฆาฏิ จีวร หรือสบง ผืนใดผืนหนึ่ง เข้าไปถวายแด่พระสงฆ์ โดยกล่าวคำถวาย ดังนี้

คำถวายผ้ากฐิน
               มะยัง ภันเต, กัมมัญจะ, กัมมะผลัญจะ, สัททะหิตฺวา, สังสาระวัฏฏะทุกขะโต, โมจะนัตถายะ, นิพพานัสสะ, สัจฉิกะระณัตถายะ, อิมัง กะฐินะจีวะระทุสสัง, พุทธัปปะมุขัสสะ, ภิกขุสังฆัสสะ เทมะ. อิมินา, จีวะระทุสเสนะ, กะฐินัง อัตถะระตุ.
              ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพระเจ้าทั้งหลาย, เชื่อกรรมและผลของกรรม, ขอน้อมถวาย, ผ้าไตรจีวรเพื่อกฐินนี้, แด่พระภิกษุสงฆ์, ผู้มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน, เพื่อความหลุดพ้น,จากทุกข์และวัฏฏสงสาร, และทำให้แจ้งพระนิพพาน, ขอพระภิกษุสงฆ์, จงกรานกฐิน ด้วยผ้าจีวรนี้เทอญ.
Read More

วันออกพรรษา

วันออกพรรษา


พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์

วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันที่พระสงฆ์อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน เป็น “วันปวารณา” โดยพระสงฆ์จะมีโอกาสกล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน พระสงฆ์รูปใดมีข้อข้องใจเรื่องความประพฤติเกี่ยวกับวินัยสงฆ์ก็ไม่ต้องนิ่งไว้ อนุญาติให้ชี้แจงกันได้ อนึ่งเมื่อออกพรรษาแล้ว พระสงฆ์ย่อมไปค้างแรมที่อื่นอันเหมาะสมได้


ตักบาตรเทโวโรหนะ
ในเทศกาลออกพรรษานี้ พุทธศาสนิกชนจะมีการตักบาตร เรียกว่า ตักบาตรเทโวโรหนะ หรือนิยมเรียกกันว่า วันตักบาตรเทโว คือ การทำบุญตักบาตรเนื่องในวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับลงจากเทวโลก หลังการที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาและแสดงพระอภิธรรม โปรดพุทธมาดารในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อออกพรรษาแล้ว พระองค์ก็เสด็จลงจากสวรรค์มายังโลกมนุษย์  ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันรุ่งขึ้นคือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นโอกาศพิเศษ พร้อมใจกันตักบาตรเฉลิมฉลองและถือเป็นประเพณีสืบกันมา

การตักบาตรนิยมทำกันที่วัด นับเป็นการตักบาตรพิเศษ บางแห่งมีการจัดพิธีใหญ่โตแห่พระพุทธรูปนำหน้าพระสงฆ์เพื่อให้พุทธศาสนิกชนตักบาตรเหมือนตักบาตรกับองค์พระพุทธเจ้าจริง การตักบาตรนี้นิยมทำกันในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ แต่บางวัดก็นิยมทำกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
Read More

ฟังเทศน์มหาชาติ เวสสันดรชาดก

ฟังเทศน์มหาชาติ เวสสันดรชาดก

มหาชาติเวสสันดรชาดก


ขอเชิญพุทธศาสนิกชน ฟังเทศน์มหาชาติ เวสสันดรชาดก


              เนื่องด้วยวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ได้จัดให้มีการเทศน์มหาชาติ เวสสันดรชาดก เป็นประจำทุก ๆ ปี ซึ่งปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ นี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ ๘, วันอาทิตย์ที่ ๙, และวันจันทร์ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร

        กำหนดการ
วันเสาร์ ที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ (ตรงกับขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑)
เวลา ๐๙.๐๐ น. ประกอบพิธีบวชเนกขัมมศีลจาริณี
กัณฑ์ที่ ๑   เวลา ๐๙.๓๐ น. กัณฑ์ทศพร
กัณฑ์ที่ ๒   เวลา ๑๐.๓๐ น. กัณฑ์หิมพานต์
กัณฑ์ที่ ๓   เวลา ๑๓.๐๐ น. กัณฑ์ทานกัณฑ์
กัณฑ์ที่ ๔   เวลา ๑๔.๐๐ น. กัณฑ์วนปเวศน์
กัณฑ์ที่ ๕   เวลา ๑๕.๐๐ น. กัณฑ์ชูชก

วันอาทิตย์ ที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ (ตรงกับขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑)
กัณฑ์ที่ ๖   เวลา ๐๙.๐๐ น. กัณฑ์จุลพน
กัณฑ์ที่ ๗   เวลา ๑๐.๐๐ น. กัณฑ์มหาพน
กัณฑ์ที่ ๘   เวลา ๑๓.๐๐ น. กัณฑ์กุมาร
กัณฑ์ที่ ๙   เวลา ๑๔.๐๐ น. กัณฑ์มัทรี
กัณฑ์ที่ ๑๐ เวลา ๑๕.๐๐ น. กัณฑ์สักพรรพ

วันจันทร์ ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๔ (ตรงกับขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑)
กัณฑ์ที่ ๑๑ เวลา ๐๙.๐๐ น. กัณฑ์มหาราช
กัณฑ์ที่ ๑๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. กัณฑ์ฉกษัตริย์
กัณฑ์ที่ ๑๓ เวลา ๑๓.๐๐ น. กัณฑ์นครกัณฑ์
                เวลา ๑๔.๓๐ น. กัณฑ์คาถาพัน

วันพุธ ที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๔ (ตรงกับขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) วันออกพรรษา
เวลา ๐๙.๓๐ น. เทศน์กัณฑ์อุโบสถเช้า
เวลา ๑๓.๐๐ น. เทศน์ปุจฉาวิสัชนา ๒ ธรรมมาสน์  "จตุราริยสัจจกถา"



....................................................................





ที่มา...มหาชาติชาดก

                ในสมัยพุทธกาลนั้น  เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์จึงเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นอรหันต์ พระบรมวงศานุวงศ์และชาวบ้านได้ออกมารับเสด็จกันมากมาย มีพระบรมวงศานุวงศ์บางท่านไม่ทำความเคารพในพระองค์เพราะคิดว่าตนมีอายุมากกว่า พระบรมศาสดาได้ทรงเห็นอาการของพระญาติวงศ์กระด้างกระเดื่องเช่นนี้ จึงได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์โดยเสด็จเหาะขึ้นสู่อากาศ และเปล่งฉัพพรรณรังสี พระราชบิดาทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงกราบไหว้พระโอรส และพระญาติวงศ์ทั้งหลายก็กราบไหว้ตามๆ กัน ขณะนั้นได้เกิดเมฆตั้งเค้ามืดครึ้มขึ้น แล้วเกิดฝนเรียกว่า “ฝนโบกขรพรรษ ตกลงมา ฝนนี้มีน้ำเป็นสีแดงใครปรารถนาจะให้เปียกก็เปียก ถ้าใครปรารถนาจะไม่ให้เปียกก็ไม่เปียก เมื่อผู้คนเห็นดังนั้นก็แปลกใจมาก ภิกษุทั้งหลายต่างพากันสนทนาถึงสิ่งมหัศจรรย์ว่าคงเป็นพุทธานุภาพของพระองค์อย่างแน่นอน พระบรมศาสดาจึงได้ตรัสว่า ฝนนี้เรียกว่าฝนโบกขรพรรษ หาได้เกิดขึ้นเพียงครั้งนี้ครั้งเดียวไม่ ในกาลก่อนครั้งทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ฝนนี้ก็ได้ตกมาในหมู่สมาคมพระญาติ พระภิกษุทั้งหลายจึงได้ทรงทูลวิงวองให้พระพุทธองค์ตรัสเล่า พระองค์จึงตรัสพระชาติดังกว่าวคือ “พระเวสสันดร” ให้พระภิกษุและพระประยูรญาติฟัง





ประวัติการเทศน์มหาชาติ

                การเทศน์มหาชาติ  จัดเป็นพระราชพิธีประจำปี คือ ระหว่างเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ และเดือนอ้าย  ถือกันว่าใครได้ฟังเทศน์มหาชาติจนจบครบทุกกันฑ์ จะได้รับอานิสงส์ยิ่งใหญ่ แม้น้ำมนต์ที่ตั้งไว้ในพิธีเทศน์ก็เป็นน้ำศักด์สิทธิ์ ชำระล้างสิ่งอัปมงคงทั้งปวงได้ ธงชัย กล้วย อ้อย และสิ่งของที่เข้าพิธีเทศน์มหาชาติก็เชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์

                
                 ความนิยมเทศน์  นิยมกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย และกรุงศีรีอยุธยา เดิมแต่งเป็นภาษามคธมีคาถาพันหนึ่ง เรียกว่า ”พระคาถาพัน” ปัจจุบันแต่งเป็นร่ายยาว พิธีเทศน์ของราษรฎนิยมทำกันในวันออกพรรษา (เดือน ๑๑) นิยมฟังกันให้จบในวันเดียว แต่ปัจจุบันขึ้นอยู่กับความสะดวก มิใคร่ถือฤดูกาลเป็นเกณฑ์เช่นแต่ก่อน
                
                  เครื่องกัณฑ์เทศน์ประกอบด้วยส้มสุกลูกไม้ ขนม และกล้วยอ้อยเป็นพื้น และมีขัน เรียกว่า “ขันประจำกัณฑ์” สำหรับเจ้าภาพติดเครื่องกัณฑ์ และคนที่ไม่ใช่เจ้าภาพจะนำปัจจัยมาใส่ในขันนั้น เมื่อถึงกัณฑ์ของใครก็จะไปประจำอยู่ในที่ใกล้พอสมควรกับพระเทศน์ สถานที่ที่เทศน์มักเอาต้นกล้วยอ้อยมาประดับตกแต่ง บางทีก็มีนกใส่กรง ปลาใส่อ่าง ทั้งนี้ เพื่อให้คล้ายกับท้องเรื่องที่เกี่ยวกับป่าและมีฉัตรธงปัก เพื่อแสดงว่าเป็นเรื่องของกษัตริย์ อนึ่ง เจ้าของกัณฑ์เทศน์มันเตรียมธูปเทียนเท่ากับคาถาประจำกัณฑ์เช่น กัณฑ์ทศพร มี ๑๙ พระคาถา ก็นำธูปเทียนมาอย่างละ ๑๙ ดอก เมื่อจบกัณฑ์เทศน์จะประโคมพิณพาทย์ประจำกัณฑ์รับ


พระคาถาประจำกัณฑ์เทศน์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์

๑ กัณฑ์ทศพร มี ๑๙ พระคาถา
๒ กัณฑ์หิมพานต์ มี ๑๓๔ พระคาถา
๓ กัณฑ์ทานกัณฑ์ มี ๒๐๙ พระคาถา
๔ กัณฑ์วนประเวศน์ มี ๕๗ พระคาถา
๕ กัณฑ์ชูชก มี ๗๙ พระคาถา
๖ กัณฑ์จุลพล มี ๓๕ พระคาถา
๗ กัณฑ์มหาพล มี ๘๐ พระคาถา
๘ กัณฑ์กุมาร มี ๑๐๑ พระคาถา
๙ กัณฑ์มัทรี มี ๙๐ พระคาถา
๑๐ กัณฑ์สักกบรรพ มี ๔๓ พระคาถา
๑๑ กัณฑ์มหาราช มี ๖๓ พระคาถา
๑๒ กัณฑ์ฉกษัตริย์ มี ๓๖ พระคาถา
๑๓ กัณฑ์นครกัณฑ์ มี ๔๘ พระคาถา
Read More

พิธีบำเพ็ญกุศลออกเมรุ [พระเทพโพธิวิเทศ]

พิธีบำเพ็ญกุศลออกเมรุ [พระเทพโพธิวิเทศ]

พระเทพโพธิวิเทศ,เจ้าคุณทองยอด,หลวงพ่อทองยอด,วัดไทยพุทธคยา
พระเทพโพธิวิเทศ กับ ดอกบัว 1 ก้านมี 3 ดอก

กำหนดการ พระราชทานเพลิงศพ พระเทพโพธิวิเทศ  (ทองยอด ภูริปาโล ปธ.๙ Ph.D)

พิธีบำเพ็ญกุศลออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ
พระเทพโพธิวิเทศ (ทองยอด ภูริปาโล ปธ.๙ Ph.D)
อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
อดีตเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา อินเดีย     อตีตหัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย
....................................................................................
วันอาทิตย์ ที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ (ตรงกับวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๙)
เวลา ๑๔.๐๐ น.  พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๘๕ รูป รับทักษิณานุปทาน
เวลา ๑๖.๐๐ น.  พระราชาคณะ ๑๐ รูป สวดพระพุทธมนต์
เวลา ๑๙.๐๐ น.  พระพิธีธรรม ๔ รูป สวดพระอภิธรรม ในพระบรมราชานุเคราะห์
วันจันทร์ ที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๔ (ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๙)
เวลา ๑๐.๐๐ น.  พระราชาคณะ ๑๐ รูป สวดพระพุทธมนต์ (ในพระบรมราชานุเคราะห์)
เวลา ๑๐.๓๐ น.  สมเด็จพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา ๑ กันฑ์ (ในพระบรมราชานุเคราะห์)
เวลา ๑๑.๐๐ น.  ถวายภัตตาหารเพลพระสงฆ์ ๒๐๐ รูป
เวลา ๑๔.๐๐ น.  พระราชาคณะ ๑๐ รูป บังสุกุล (ในพระบรมราชานุเคราะห์)  เชิญหีบศพขึ้นรถวอประเทียบ จากตำหนักสมเด็จ คณะ ๑ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ไปยังเมรุวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร แห่เวียนรอบเมรุ แล้วเชิญขึ้นตั้งบนจิตกาธาน
เวลา ๑๗.๓๐ น.  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ
วันอังคาร ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ (ตรงกับ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๙)
เวลา ๗.๐๐ น.  พระราชทานผ้าไตรและภัตตาหาร ๓ หาบในการเก็บอัฐิ (ในพระบรมราชานุเคราะห์)
เวลา ๑๐.๓๐ น.  พระราชาคณะ ๑๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์ฉลองอัฐิ
เวลา ๑๑.๐๐ น.  ถวายภัตตหารเพลพระสงฆ์สามเณรทั้งอาราม


แต่งกายเครื่องแบบปกติขาว ไว้ทุกข์
Read More
12 สิงหา [วันแม่]

12 สิงหา [วันแม่]




ปากแม่บ่นไป   ใจแม่แสนรัก
ปากแม่แช่งชัก  ใจแม่เจ็บนัก
กลัวลูกรักเป็นไป  
ปากบอกเกลียดนัก  ใจแม่รักแทบตาย
ปากร้ายแสนร้าย  ตายแทนได้เสมอ
ปากพร้ำสอนด่า  กล้วว่า "ลูกไม่รักดี"


........................................................................

   คิดดูเถิดนับแต่เจ้าเกิดมา
มีใครบ้างหนที่รักเจ้าเท่าชีวี
คิดดูเถิดคิดดูให้ดี
ว่ามีใครรักเจ้าเท่ามารดา
เช้าก็ห่วงบ่ายก็ห่วงเย็นก็ห่วง
ดวงใจทั้งดวงมีเจ้าตลอดเวลา
ยามลูกขื่นขมแม่ตรมอุรา
แม่นี้หนารักเจ้ายิ่งกว่าใคร ๆ

........................................................................

ยามเจ้าเกิดมาหวังไว้ว่า...เจ้าต้องเลี้ยงง่าย
ยามเจ้าเติบโตมาหวังให้...เจ้าได้ปริญญา
ยามจบการศึกษา...หวังว่าเจ้าจะต้องได้งา่นที่ดีทำ
ยามเจ้ามีคู่หวังให้...คู่อุปถัมภ์
ยามแม่สิ้นใจหวังไว้ให้...เจ้าช่วยปิดตา
ยามไม่มีแม่...ปรารถนาไว้ว่า  ให้เจ้าเป็น "คนดี"

........................................................................

แม่....มีแต่ให้
ให้กำเนิดเกิดมา
ให้การศึกษาและเลี้ยงดู
ให้ความรักให้ความรู้ให้ที่อยู่
ให้ใช่แรงงานให้ลาญทรัพย์สิน
ให้อาหารการกินให้ทั้งน้ำตา
ให้เหนือฟ้าให้เหนือดินจนสิ้นใจ.

........................................................................

ลูกจะอดทนอยู่บนทางชีวิต ไม่ทำผิด ไม่อ่อนแอ่ ทุกข์ปานใดลูกจะไม่ยอมแพ้
จะเป็นคนดีของ ....พ่อแม่... ตลอดไป   



Read More