#
#
#
#
#
  • Mauris euismod rhoncus tortor
  • Sed nunc augue
  • Why is it needed
  • Where can I get some
  • What is Lorem Ipsum?

ยุติการอัพเดทบล็อก




ยุติการอัพเดทบล็อก

ตั้งแต่วันนี้ทาง mahathaturadio.blogspot.com จะยุติการอัพเดทข้อมูลข่าวสารต่างๆ และท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของ "รายการเสียงธรรมจากวัดมหาธาตุ" ได้ทาง เว็บไซต์ วัดมหาธาตุดอทคอม 




Read More

แนะนำรายการ

แนะนำรายการ

รายการเสียงธรรมจากวัดมหาธาตุ
-หลักการและเหตุผล-
        ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาตั้งแต่กรุงสุโขทัยจวบจนถึงปัจจุบัน วิถีชีวิตของคนไทยมีความผูกพันกับพระพุทธศาสนาตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงสุดท้ายของชีวิต หล่อหลอมเป็นศิลปะ ประเพณีและวัฒนธรรมของวิถีชีวิตสังคมไทย โดยผ่านทางพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าถึงศาสนาในเบื้องต้น พระสงฆ์จึงเป็นศาสนทายาทมีหน้าที่โดยตรงในการนำพุทธศาสนิกชนให้เข้าใจและปฏิบัติตามคำสอนทางพระพุทธศาสนา

รายการ “เสียงธรรมจากวัดมหาธาตุ” เป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำพุทธศาสนิกชนให้รู้และเข้าใจในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาได้ดียิ่งขึ้น
อนึ่ง การเผยแผ่ธรรมะทางวิทยุนี้ ถือว่าเป็นการบำเพ็ญทานบารมีขั้นสูง คือ การให้ธรรมเป็นทาน ตามที่พระพุทธองค์ตรัสว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้ธรรมทาน ย่อมชนะการให้ทั้งปวง

-วัตถุประสงค์-
        ๑. เพื่อเผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
        ๒. เพื่อการศึกษาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
        ๓. เพื่อทำนุบำรุงศิลปะประเพณีและวัฒนธรรมไทย
        ๔. เพื่อเผยแผ่กิจกรรมและเกียรติคุณของสำนักวัดมหาธาตุ

.............................................

         รายการเสียงธรรมจากวัดมหาธาตุ  ออกอากาศเป็นประจำทุกวัน ทางสถานีวิทยุกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ ระบบ AM 1422 Mhz.
วันจันทร์ - วันศุกร์       ออกอากาศ เวลา 22.00 น. - 23.00 น.
วันเสาร์  - วันอาทิตย์  ออกอากาศ เวลา 16.00 น. - 17.00 น.

วันจันทร์     รายการ   เพชรในพระไตรปิฎก
วันอังคาร   รายการ   คติธรรมจากชาดก
วันพุธ*       รายการ   ของดีจากวัดมหาธาตุ / สนทนาภาษาอภิธรรม
วันพฤหัส    รายการ   มองตามธรรม
วันศุกร์        รายการ   วิปัสสนากรรมฐาน
วันเสาร์       รายการ   ไขข้อข้องใจผู้ใฝ่ธรรม
วันอาทิตย์  รายการ   ไขข้อข้องใจผู้ใฝ่ธรรม




* หมายเหตุ   วันพุธ ที่ 1 และ 2 ของเดือน เป็นรายการ   ของดีจากวัดมหาธาตุ
                      วันพุธ ที่ 3 และ 4 ของเดือน เป็นรายการ  สนทนาภาษาอภิธรรม
                      
Read More

วันสงกรานต์


ประกาศวันสงกรานต์ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕

        ปีมะโรง (เทวดาผู้ชาย ธาตุทอง) จัตวาศก จุลศักราช ๑๓๔๗ ทางจันทรคติ เป็นอธิกมาส ทางสุริยคติ เป็น อธิกสุรทิน 
วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๕ เวลา ๑๙ นาฬิกา ๑๒ นาที ๐๐ วินาที  
        นางสงกรานต์ ทรงนามว่า กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จไสยาสน์ลืมเนตรมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะ
วันที่ ๑๕ เมษายน เวลา ๒๓ นาฬิกา ๔๓ นาที ๔๘ วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น ๑๓๗๔ ปีนี้วันจันทร์ เป็นธงชัย
วันเสาร์ เป็นอธิบดี วันอาทิตย์ เป็นอุบาทว์ วันจันทร์ เป็นโลกาวินาศ
ปีนี้ วันพฤหัสบดี เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก ๕๐๐ ห่า ตกในโลกมนุษย์ ๕๐ ห่า ตกในมหาสมุทร ๑๐๐ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๑๕๐ ห่า ตกในเขาจักรวาล ๒๐๐ ห่า นาคให้น้ำ ๓ ตัว
เกณฑ์ธัญญาหารได้เศษ ๒  ชื่อวิบัติ ข้าวกล้าในภูตินาจะเกิดกิมิชาต (ด้วงกับแมลง) จะได้ผล กึ่ง เสีย กึ่ง
เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศิวาโย (ลม) น้ำน้อย




         เทศกาลสงกรานต์ คือ เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของไทย ตามปรกติเทศกาลสงกรานต์จะกินเวลานานถึง ๓ วัน คือ วันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน ของทุกปี โดยวันที่ ๑๓ เป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา และวันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๓ รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ ๑ มกราคม ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่

        เทศกาลสงกรานต์นี้เป็นประเพณีที่ไทยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย จากนั้นจึงแพร่หลายสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ลาว และเขมร เฉพาะคำว่า “สงกรานต์” มีรากศัพท์มาจากภาษสันสกฤต (สงฺกฺรานฺติ) แปลว่า ผ่าน หรือเคลื่อนย้ายเข้าไป คำว่าผ่านหรือเคลื่อนย้าย นี้หมายถึง การที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งตรงกับช่วงเดือนเมษายนพอดี
คำว่า “ราศี” เป็นศัพท์ที่ใช้ในวงการโหราศาสตร์ หมายถึง ส่วนหนึ่งๆ ของท้องฟ้าที่โหราจารย์แต่โบราณได้แบ่งออกเป็น ๑๒ ส่วน/ราศี แต่ละราศีมี ๓๐ องศา รวม ๑๒ ราศี จึงเป็น ๓๖๐ องศา อันเท่ากับเนื้อที่ทั้งหมดของวงกลม




Read More

วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔

วันมาฆบูชา ซึ่งถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง


ความหมายของวันมาฆบูชา

          คำว่า "มาฆะ" นั้น เป็นชื่อของเดือน ๓ ย่อมาจากคำว่า "มาฆบุรณมี" หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน ๓

การกำหนดวันมาฆบูชา
          การกำหนดวันมาฆบูชาตามปฏิทินจันทรคติของไทยนั้นจะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ และมักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม

 ความสำคัญและประวัติของวันมาฆบูชา
          ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา ๙ เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่างๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์" ทั้งนี้ในวันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมๆ กันถึง ๔ ประการ อันได้แก่
          ๑. วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
          ๒. มีพระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
          ๓. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา ๖
          ๔. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"

          เพราะเกิดเหตุอัศจรรย์ ๔ ประการข้างต้น ทำให้วันมาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งคำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" นี้ มีความหมายตามการแยกศัพท์คือ
          จาตุร แปลว่า ๔
          องค์ แปลว่า ส่วน
          สันนิบาต แปลว่า ประชุม
          ดังนั้น "จาตุรงคสันนิบาต" จึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ ๔" นั่นเอง

          ทั้งนี้วันมาฆบูชาถือว่าเป็นวันพระธรรม ขณะที่วันวิสาขบูชาถือว่าเป็นวันพระพุทธ ส่วนวันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระสงฆ์

 ประวัติการถือปฏิบัติวันมาฆบูชาในประเทศไทย
          พิธีทำบุญวันมาฆบูชานี้ ไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีมาในสมัยใด อย่างไรก็ตามในหนังสือ "พระราชพิธีสิบสองเดือน" อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ว่า
          ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรกในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีการประกอบพิธีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๓๙๔ ในพระบรมมหาราชวังก่อน โดยมีพิธีพระราชกุศลในเวลาเช้า นมัสการพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวรวิหารและวัดราชประดิษฐ์จำนวน ๓๐ รูป ฉันภัตตาหารในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
          เมื่อถึงเวลาค่ำ  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออก ทรงจุดธูปเทียนนมัสการ พระสงฆ์ทำวัตรเย็นและสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ เมื่อสวดจบทรงจุดเทียน ๑,๒๕๐ เล่ม รอบพระอุโบสถ มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ ๑ กัณฑ์เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย ส่วนเครื่องกัณฑ์ประกอบด้วยจีวรเนื้อดี ๑ ผืน เงิน ๓ ตำลึงและขนมต่างๆ เมื่อเทศนาจบ พระสงฆ์ ๓๐ รูป สวดรับ
          ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปี แต่มีการยกเว้นบ้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เนื่องจากบางครั้งตรงกับช่วงเสด็จประพาสก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่ นั้นๆ ขึ้นอีกแห่ง นอกเหนือจากภายในพระบรมมหาราชวัง
          ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอกิจกรรมทางศาสนา

          หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติคือ "โอวาทปาติโมกข์" ซึ่งเป็นหลักคำสอนสำคัญอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เพื่อไปสู่ความหลุดพ้น หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ และวิธีการ ๖ ดังนี้

 หลักการ ๓ คือหลักคำสอนที่ควรปฏิบัติ ได้แก่

          ๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง อันได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว ๑๐ ประการที่เป็นความชั่วทางกาย (การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม) ทางวาจา (การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ) และทางใจ (การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม)

          ๒. การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตาม กุศลกรรมบถ ๑๐ ทั้งความดีทางกาย (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ความดีทางวาจา (ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ) และความดีทางใจ (ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม)

          ๓. การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย

          ซึ่งทั้ง ๓ หลักการข้างต้น สามารถสรุปใจความสำคัญได้ว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์" นั่นเอง

 อุดมการณ์ ๔ ได้แก่
          ๑. ความอดทน อดกลั้น คือ ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ
          ๒. ความไม่เบียดเบียน คือ งดเว้นจากการทำร้าย หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
          ๓. ความสงบ ได้แก่ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ
          ๔. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

 วิธีการ ๖ ได้แก่
          ๑. ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้าย โจมตีใคร
          ๒. ไม่ทำร้าย คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
          ๓. สำรวมในปาติโมกข์ คือ เคารพระเบียบวินัย กฎกติกา รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม
          ๔. รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดีในการบริโภค รวมทั้งการใช้สอยสิ่งต่างๆ
          ๕. อยู่ในสถานที่สงัด คือ อยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
          ๖. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือ การฝึกหัดชำระจิตใจให้สงบ มีประสิทธิภาพที่ดี

 กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา
          การปฏิบัติตนสำหรับพุทธศาสนิกชนในวันมาฆบูชาคือ คือ ในตอนเช้า ควรไปทำบุญตักบาตร ไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา หรือจัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหาร ช่วงบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา เจริญสมาธิภาวนา เมื่อถึงตอนค่ำ นำดอกไม้ ธุปเทียนไปเวียนเทียน ๓ รอบที่พระอุโบสถ โดยการเวียนเทียนนั้นจะเวียนขวา จำนวน ๓ รอบ และช่วงเวลาที่เดินอยู่นั้นให้ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นอกจาก นี้พุทธศาสนิกชนควรบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามสถานที่ต่างๆ และรักษาศีล สำหรับตามบ้านเรือน สถานที่ราชการ จะมีการประดับธงชาติ ธงธรรมจักร เพื่อระลึกถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

 ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดกิจกรรมในวันมาฆบูชา
          พุทธศาสนิกชนจะมีความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชา รวมทั้งหลักธรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความตระหนักต่อความสำคัญของพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะชาวพุทธ และยังเป็นการช่วยธำรงพระพุทธศาสนาให้สืบต่อไป





Read More

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๕



สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๕


ขออวยพร  วอนอ้าง  คุณพระพุทธ
ได้ปกป้อง  ผองมนุษย์  โศกกษัย
ขออ้าง  คุณพระธรรม  อันอำไพ
ช่วยคุ้มสัตว์  ทั่วไป  ไร้โรคา
ขออวยพร  วอนอ้าง  คุณพระสงฆ์
ช่วยธำรง  สุขสันต์  กันทั่วหน้า
ข้าร่ำร้อง  ลำนำ  พร่ำภาวนา
ทั่วโลกา  สิ้นทุกข์  พาสุขเอยฯ

"พุทธทาสภิกขุ"

สวัสดีปีใหม่ ทุกๆ ท่าน 
      รายการเสียงธรรมจากวัดมหาธาตุ ขออำนวยพรให้ทุกๆ ท่าน มีแต่ความสุข ความเจริญ ในชีวิตและหน้าที่การงาน ตลอดปี ๒๕๕๕ ด้วยกันทุกท่าน เทอญ




สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๕
เสียงธรรมจากวัดมหาธาตุ


Read More