วันสงกรานต์


ประกาศวันสงกรานต์ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕

        ปีมะโรง (เทวดาผู้ชาย ธาตุทอง) จัตวาศก จุลศักราช ๑๓๔๗ ทางจันทรคติ เป็นอธิกมาส ทางสุริยคติ เป็น อธิกสุรทิน 
วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๕ เวลา ๑๙ นาฬิกา ๑๒ นาที ๐๐ วินาที  
        นางสงกรานต์ ทรงนามว่า กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จไสยาสน์ลืมเนตรมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะ
วันที่ ๑๕ เมษายน เวลา ๒๓ นาฬิกา ๔๓ นาที ๔๘ วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น ๑๓๗๔ ปีนี้วันจันทร์ เป็นธงชัย
วันเสาร์ เป็นอธิบดี วันอาทิตย์ เป็นอุบาทว์ วันจันทร์ เป็นโลกาวินาศ
ปีนี้ วันพฤหัสบดี เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก ๕๐๐ ห่า ตกในโลกมนุษย์ ๕๐ ห่า ตกในมหาสมุทร ๑๐๐ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๑๕๐ ห่า ตกในเขาจักรวาล ๒๐๐ ห่า นาคให้น้ำ ๓ ตัว
เกณฑ์ธัญญาหารได้เศษ ๒  ชื่อวิบัติ ข้าวกล้าในภูตินาจะเกิดกิมิชาต (ด้วงกับแมลง) จะได้ผล กึ่ง เสีย กึ่ง
เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศิวาโย (ลม) น้ำน้อย




         เทศกาลสงกรานต์ คือ เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของไทย ตามปรกติเทศกาลสงกรานต์จะกินเวลานานถึง ๓ วัน คือ วันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน ของทุกปี โดยวันที่ ๑๓ เป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา และวันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๓ รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ ๑ มกราคม ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่

        เทศกาลสงกรานต์นี้เป็นประเพณีที่ไทยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย จากนั้นจึงแพร่หลายสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ลาว และเขมร เฉพาะคำว่า “สงกรานต์” มีรากศัพท์มาจากภาษสันสกฤต (สงฺกฺรานฺติ) แปลว่า ผ่าน หรือเคลื่อนย้ายเข้าไป คำว่าผ่านหรือเคลื่อนย้าย นี้หมายถึง การที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งตรงกับช่วงเดือนเมษายนพอดี
คำว่า “ราศี” เป็นศัพท์ที่ใช้ในวงการโหราศาสตร์ หมายถึง ส่วนหนึ่งๆ ของท้องฟ้าที่โหราจารย์แต่โบราณได้แบ่งออกเป็น ๑๒ ส่วน/ราศี แต่ละราศีมี ๓๐ องศา รวม ๑๒ ราศี จึงเป็น ๓๖๐ องศา อันเท่ากับเนื้อที่ทั้งหมดของวงกลม