เทศกาลลอยกระทง

เทศกาลลอยกระทง



เชิญร่วมลองกระทงสำหรับคนไอที
เทศกาลลอยกระทง
               ความหมายและความสำคัญ
               วันลอยกระทงเป็นประเพณีและพิธีกรรมที่นับเนื่องกับพระพุทธศาสนา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ การลอยกระทงทำขึ้นเพื่อบูชารอยพระบาทที่ประดิษฐานอยู่ ณ ชายหาดริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา ใน ชมพูทวีป

ตามหลักฐานที่ปรากฏในปุณโณวาทสูตรท่านเล่าว่า คราวหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จพุทธดำเนินไปแสดงธรรมโปรดพญานาคชื่อ นัมมทา ณ นาคพิภพ ครั้นแสดงธรรมจนพญานาคเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัยอย่างแน่นแฟ้นแล้วก็เสด็จกลับ ก่อนเสด็จกลับนั้น พญานาคกราบทูลขอของที่ระลึกสักอย่างหนึ่งจากพระพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ให้เป็นอนุสรณ์ที่ชายหาดริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา คนไทยคงได้คตินี้จึงคิดประเพณีลอยกระทงขึ้นเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทนี้ ตามหลักฐานจากหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงว่า วันลอยกระทงหรือประเพณีลอยกระทงนี้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) แล้ว



ในส่วนที่วันลอยกระทงเริ่มมีการประกวดนางนพมาศขึ้นมาในยุคหลังนั้น สืบเนื่องมาจากมีเรื่องเล่าไว้ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ผู้เป็นพระสนมเอกของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ว่า คราวหนึ่งพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงโปรดฯ ให้ข้าราชบริพารจัดแต่งกระทงสำหรับลอยหน้าพระที่นั่งในวันเพ็ญ เดือน ๑๒ เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทตามที่กล่าวแล้ว ในการนี้ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งขณะนั้นมีชื่อเดิมว่า นางเรวดีนพมาศก็ได้ร่วมประดิษฐ์กระทงด้วย กระทงของนางเรวดีนพมาศนั้นมีรูปลักษณ์แปลกออกไปจากกระทงของคนอื่น คือนางประดับกระทงด้วยดอกบัวชนิดหนึ่งซึ่งปีหนึ่งจะบานเพียงหนเดียว คือบานในวันเพ็ญเดือน ๑๒ นี้เท่านั้น ดอกบัวชนิดนี้ชื่อดอก กมุท หรือ โกมุท กุมุท คือดอกบัวขาว กระทงของนางเรวดีนพมาศที่แต่งเป็นดอกกมุทนี้ประดับด้วยประทีปอย่างงดงาม เป็นที่สดุดตาของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ เป็นอันมาก ท้าวเธอทอดพระเนตรแล้วทรงพอพระทัยจึงตรัสสืบว่า ต่อไปเบื้องหน้าขอให้ทุกคนเอาอย่างนางเรวดีนพมาศนี้ จงแต่งกระทงประทีปลอยในวันเพ็ญเดือน ๑๒ ให้เป็นรูปดอกกมุทสืบไป
จุดมุ่งหมายในวันลอยกระทง
๑. บูชารอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนชายหาดริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา ณ ชมพูทวีป ความจริงรอยพระพุทธบาทนี้ไม่ได้ประดิษฐานอยู่ที่นี้ที่เดียว แต่ผู้รู้กล่าวว่ายังมีประดิษฐานอยู่ที่อื่นอีก ๔ แห่ง คือ ภูเขาสัจจพันธคีรี ยอดเขาสุมนกูฏ (ลังกา) สุวรรณบรรพ (จังหวัดสระบุรี ประเทศไทย) และเมืองโยนก รวมทั้งหมดเป็น ๕ รอย
การลอยกระทงมีคติธรรมที่ควรยึดถือ คือ แทนที่จะลอยแต่เพียงกระทงอย่างเดียว ชาวพุทธก็ถือเป็นโอกาศในการ ลอยบาป คือ ละความเห็นผิด เลิกพฤติกรรมที่ไม่ดีไม่งามของตน รวมทั้งลอยความอาฆาตพยาบาทที่ตนมีต่อคนอื่น เป็นต้น ทิ้งออกจากใจ ปล่อยให้ลอยไปกับสายน้ำเสียด้วย หากทำได้ดังนี้การลอยกระทงก็มีความหมายในทางที่หน้าสรรเสริญและควรกระทำอย่างยิ่ง ทั้งนี้กล่าวตามแนวแห่งพระพุทธพจน์ที่ว่า พาหิตปาโป หิ พฺราหฺมโณ : ผู้ลอยบาปเสียได้ นับว่าเป็นผู้ประเสริฐแท้
๒. การบูชารอยพระพุทธบาทที่แท้นั้นไม่ได้หมายถึงปีหนึ่งมีเพียงหนึ่งครั้ง คือ ในวันลอยกระทงเท่านั้น แต่เราสามารถบูชารอยพระพุทธบาทได้ตลอดเวลา ด้วยการน้อมนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาปฏิบัติในชีวิตจริง การบูชารอยพระพุทธบาทด้วยการปฏิบัติดีงามตามธรรมนี้แหละ คือ การบูชาที่แท้ที่มีสาระประโยชน์สอดคล้องกับพระพุทธประสงค์สมดังที่พระองค์ตรัสประทานพุทโธวาทไว้ว่า อานนท์ ภิกษู ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาคนใดก็ตามที่ประพฤติธรรมตามสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่า สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ตถาคตด้วยการบูชาอันสูงสุด
               ๓.นอกจากการลอยกระทงจะเป็นการลอยสิ่งที่ไม่ดีงามออกจากตน และลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทแล้ว ในอีกความหมายหนึ่งในการลอยกระทงยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการขอขมาต่อแม่คงคามหานทีอีกด้วย ทำไมต้องขอขมาต่อแม่คงคามหานที คำตอบก็เพราะว่า ในแต่ละปีเราใช้น้ำและทิ้งสิ่งสกปรกลงในแม่น้ำลำคลอง จนทำให้แม่น้ำลำคลองซึ่งเป็นผู้มีพระคุณในฐานะที่เป็นแหล่งกำเนิดข้าวปลาอาหารและน้ำดื่มและน้ำใช้ต้องสกปรกและสูญเสียคุณภาพที่ดีไป เมื่อเราสำนึกได้ถึงความผิดของตนเอง จึงควรทำพิธีขอขมาต่อแม่น้ำลำคลองเสียครั้งหนึ่งในหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม การขอขมาต่อแม่น้ำลำคลองด้วยการลอยกระทงยังเป็นการขอขมาในเชิงสัญลักษณ์ซึ่งไม่ช่วยให้แม่น้ำลำคลองที่สกปรกดีขึ้นได้ การขอขมาต่อแม่น้ำลำคลองที่แท้หมายถึง การช่วยดูแลรักษาแหล่งน้ำทุกแหล่งให้สะอาดปราศจากมลพิษ ถ้าทำได้อย่างนี้การลอยกระทงก็จะมีประโยช์ทั้งในทางศาสนา ในทางวัฒนธรรม และในทางสังคม
---------------------------------------------
Read More

ประมวลภาพน้ำท่วม

ประมวลภาพน้ำท่วม
ประมวลภาพน้ำท่วมบริเวณวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ
เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๔
--------------------------------------



















































































Read More